“ไผ่” พืชเศรษฐกิจกับเกษตรกรตัวอย่าง

“ถนอม ชุมชาติ” เกษตรกรตัวอย่างในการจัดสรรพื้นที่อย่างลงตัว เผยตั้งแต่มีการจัดสรรพื้นที่อย่างลงตัวในการทำการเกษตรกรรม ด้วยการปลูกพืชแซมในเนื้อที่สวนยางพารา นำมาซึ่งรายได้หลัก รายได้รอง และรายได้เสริม ชี้ “ไผ่” เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ นำมาซึ่งประโยชน์มากมาย
       
       นายถนอม ชุมชาติ เจ้าของป่าไผ่ 5 ไร่ ในพื้นที่หมู่ที่ 3 ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล ซึ่งถือว่าเป็นเกษตรกรตัวอย่างในการจัดสรรพื้นที่อย่างลงตัว จนมีทั้งรายได้หลัก รายได้รอง และรายได้เสริม พื้นที่ 25 ไร่ ถูกแบ่งเป็น สวนยางพารา 23 ไร่ แซมด้วยไผ่ตง 3 ไร่ ที่เหลือ 2ไร่ ปลูกป่าไผ่ เป็นร่องแนวยาว ระหว่างร่องก็จะปลูกต้นเตยหอม ต้นผักกูด ไปจนถึงพืชสมุนไพรชนิดต่าง เลี้ยงปลาดุก ปลานิล เลี้ยงหอย เลี้ยงผึ้ง คือจะปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก ในอนาคตจะขยายไปทั้งหมด 20 ไร่ คือใช้พื้นที่คุ้มค่าทุกตารางนิ้วเลยทีเดียว
       
       นายถนอม ชุมชาติ เจ้าของสวน กล่าวว่า ไผ่ที่ปลูกไว้มีทั้งหมด 16 สายพันธุ์ ได้แก่ 1.สายพันธุ์ศรีปราจีน เป็นสายพันธุ์ที่ปลูกง่ายที่สุดในพื้นที่ 2.สายพันธุ์หม่าจู หรือไผ่จีน 3.สายพันธุ์กิมซุง 4.สายพันธุ์บงหวานเมืองเลย 5.สายพันธุ์พะเยา 6.สายพันธุ์สามฤดู 7.สายพันธุ์เปาะช่อแฮ 8.สายพันธุ์ลืมแล้ง(มีตลอดปี) 9.สายพันธุ์เขียว 10.สายพันธุ์ใต้หวัน 11.สายพันธุ์เลี้ยงหวาน 12.สายพันธุ์หลีจู 13.สายพันธุ์ไผ่เงิน(ประเภทสวยงาม) 14.สายพันธุ์ไผ่อินโด(ประเภทสวยงาม)15.สายพันธุ์ไผ่ฮ่องเต้(ประเภทสวยงาม) 16.ไผ่น้ำเต้า (ประเภทสวยงาม) ไผ่ตง สายพันธุ์หม่าจู ตอนนี้ได้รับความนิยมมากที่สุด เป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่มีปัญหาคือดองไว้นานไม่ได้ มีอายุเพียง 15 วันเท่านั้น หากขายเป็นกิ่งก็จะขายในราคา 150-250 บาท/กิ่ง ซึ่งถือว่าราคาสูง สำหรับไผตงสายพันธุ์สวยงามก็มีราคาสูงถึง 3,000 บาทต่อต้น ในอนาคตจะขยายไผ่สายพันธุ์นี้เพิ่มขึ้น
       
       เหตุผล ที่เลือกปลูกไผ่ เพราะไผ่ ให้ผลผลิตยาวนานและยั่งยืน ปลูกเพื่อศึกษาและวิจัยว่าพันธุ์ไหนให้ผลผลิตมากหรือน้อย และคัดมาเป็นพันธุ์ที่สามารถส่งเสริมให้กับชาวบ้านได้ปลูกด้วย ส่วนวิธีการปลูกนั้นไม่ยาก ไผ่เป็นพืชที่ปลูกง่าย สามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ทุกภาคของประเทศไทย ที่ดินตรงที่ปลูกนี้เดิมเคยเป็นที่นา ได้ทำการพลิกผืนดิน ยกร่องปลูกไผ่สายพันธุ์ปราจีนก่อน 
       
       โดยใช้วิธีขุดหลุมเอาปุ๋ยคอกรองหลุมเล็กน้อย ปลูกเอียง 45 องศา เพื่อกระตุ้นการแตกหน่อ และรดน้ำ หากในช่วงหน้าแล้งก็ทำเพิงกันแดดให้หน่อย ถ้าหน้าฝนก็ไม่ต้องกันแดด ผ่านไปประมาณ 15 วัน ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยชีวภาพเพิ่ม 7-8 เดือนผ่านไป ไผ่ก็จะแตกหน่อ จะเก็บไว้เป็นแม่ลำหรือนำไปรับประทานก็ได้ ส่วนใหญ่นิยมเก็บไว้เป็นแม่ลำ ประมาณ 5-6 หน่อ และแม่ลำนี้จะแตกหน่อเพิ่ม
       
       วิธีการตัดก็เป็นขั้นตอนที่สำคัญ ถ้าตัดไม่เป็น ปีต่อไปก็จะไม่มีหน่อให้เห็น บางคนตัดจนถึงโคน คือตัดตาที่จะเป็นหน่อ จึงทำให้ไม่มีหน่อในปีต่อไป วิธีการตัดที่ถูกต้องคือ นับจากโคนโดยนับจากกาบที่ 4 ซึ่งจะมีตาออกมาข้างละ 3 ตา วิธีการไว้แม่ลำคือ เลือกลำที่โผล่มาจากดินซึ่งจะมีความแข็งแรงกว่า ไผ่จะไม่ล้ม หากเราเลือกไผ่ที่ได้จากกิ่งมาเป็นแม่ลำก็จะไม่แข็งแรง วิธีการดูแลรักษาก็ง่าย ใส่ปุ๋ยคอก ตามด้วยปุ๋ยน้ำซึ่งได้จากการหมักปลา วิธีการผลิตไผ่ให้ได้ราคา ในช่วงหน้าแล้ง ก็สามารถทำได้
       
       โดยปกติไผ่จะแตกหน่อในช่วงหน้าฝน จะออกพร้อมกันหมดเลย แต่ถ้าเราผลิตไผ่ให้ออกนอกฤดูก็จะเป็นการเพิ่มมูลค่า เพิ่มราคาหน่อไม้ โดยช่วงปลายฝนควรใส่ปุ๋ยให้เต็มที่ใช้ปุ๋ยคอกบางครั้งก็ต้องใส่ปุ๋ยเคมีเสริมบ้างเล็กน้อย เมื่อใส่ปุ๋ยเต็มที่ก็ทิ้งช่วงให้แล้งผ่านไปประมาณ 10-15 วัน หลังจากนั้นก็รดน้ำให้ได้ 200 ลิตรต่อ 1 กอ ให้มันรู้สึกเหมือนฝนตกหนัก เป็นทฤษฎีเหมือนแกล้ง จากนั้นนับไป45 วัน หน่อไม้ก็จะแตกหน่อ ซึ่งตรงกับช่วงหน้าแล้วพอดี เกษตรกรก็จะได้หน่อไม้ราคาดี
       
       “ไผ่” สร้างรายได้ตั้งแต่หน่อไม้ ไผ่ 150 กอ สร้างรายได้เฉลี่ย 4 หมื่นบาทต่อปี กิ่งไผ่สามารถตอนเพื่อนำไปขยายพันธุ์ นำไปใส่ถุงเลี้ยงให้รากเดินเต็มถุง ขายได้ซึ่งขึ้นอยู่กับสายพันธุ์โดยพันธ์หม่าจู อยู่ที่ราคากิ่งละ 150 -250บาท พันธุ์ไผ่หวานและศรีปราจีน อยู่ที่ราคา 30-50 บาท ก็ลดบ้างแถมบ้าง สำหรับลำไผ่ก็จะขายในราคาลำละ 15-25 บาท ส่วนใบที่ร่วงหล่นก็มีประโยชน์ในการแปรสภาพเป็นปุ๋ย 
       
       ทั้งนี้ ตลาดในประเทศมาเลเซียให้ความสนใจหาซื้อ ชาวประมงที่ออกเรือไปนาน 1-2 เดือน ก็จะมาสั่งซื้อเก็บไว้เป็นเสบียงประกอบอาหาร เพราะหน่อไม้ไม่ต้องแช่น้ำแข็งแต่ปัญหาคือขณะนี้สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ อีกอย่างของการแปรรูปคือ นำลำไผ่มาเหลาทำเป็นไม้เสียบลูกชิ้น ไม้เสียบไก่ เหลาทำกรงนก ตอนนี้คนปลูกไผ่มีน้อยมาก ไผ่กำลังจะสูญพันธุ์แล้วเพราะเกษตรกรหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน
       
       ด้านนายสมชาย โยธาทิพย์ นายอำเภอควนกาหลง กล่าวขณะออกเยี่ยมสวนเศรษฐกิจพอเพียง ว่า ระบบการจัดการของสวนไผ่แห่งนี้ สังเกตได้ว่าเจ้าของสวนจะใช้ประโยชน์ทุกตารางนิ้ว โดยลักษณะของโครงการ นอกจากจะมียางพาราที่เป็นรายได้หลักแล้วก็จะมีพืชเสริมเข้ามา คือปลูกไผ่ ผักกูด และผักอื่นๆเข้ามา ไม่มีหนี้สิน มีเงินเก็บ ชีวิตสุขสบาย จึงอยากให้เกษตรกรรายอื่นๆเอาเป็นแบบอย่าง และอยากให้เป็นศูนย์ วิธีการดำรงชีวิตอย่างพอดี พอเพียง
       
       โดยการกรีดยางพารานั้นมีห้วงเวลา 110 วัน ต่อ 365 วัน(ปี) ถือว่าน้อยมาก ประมาณ 3 เดือนกว่า แต่รายได้จากไผ่ ผึ้ง ปลา จะเป็นรายได้เสริม เดือนละประมาณ 7,000-8,000 บาท ซึ่งในครอบครัวแทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายประจำวันเลย ส่วนเงินที่ได้จากยางพาราจะเป็นเงินเก็บและส่งลูกเรียน
       
       นายอารีต บินหมัด เกษตรอำเภอควนกาหลง กล่าวด้วยว่า เกษตรกรรายนี้ถือว่า หัวไวใจสู้ ในส่วนของเกษตรอำเภอนั้น ก็เข้ามาดำเนินการจัดตั้งให้เป็นศูนย์ทางการเกษตรซึ่ง เมื่อมีงบประมาณก็จะเข้ามาต่อยอดในส่วนที่เกษตรกรเขาทำไว้แล้ว เช่นมาส่งเสริมเรื่องการปลูกมะนาว ให้ออกดอกออกผลในช่วงฤดูแล้ง การทำปุ๋ยหมัก ให้ความรู้กับเจ้าของแปลง เมื่อมีการอบรม ให้ความรู้แก่เกษตรในพื้นที่อำเภอควนกกหลง และพื้นที่ใกล้เคียง
       
       จุดนี้ก็จะเป็นจุดเรียนรู้ เพื่อขยายผลต่อยอดให้แก่เกษตรกรรายอื่นๆให้ดำเนินการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงใครสนใจที่จะเรียนรู้ หรือนำมาปรับสร้างเป็นรายได้ ติดต่อขอข้อมูลได้ที่ ถนอม ชุมชาติ ที่จุดถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตไผ่ตงหวาน หมู่ที่ 3 ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล สำนักงานเกษตรอำเภอ 074-791116

 

ที่มา//โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 กุมภาพันธ์ 255
http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9540000013653