สศก.วิเคราะห์พืชเศรษฐกิจรับผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำ

นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สศก.ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำวันละ 300 บาท ที่มีต่อภาคเกษตร โดยเบื้องต้นพบว่าค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรที่จำเป็นต้องใช้แรงงานในการผลิตทุกชนิด เฉลี่ยอยู่ที่ 6-15% สำหรับพืชเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดได้แก่ ถั่วเหลือง มีต้นทุนเพิ่มขึ้นคิดเป็น 15.62% รองลงมาได้แก่ ยางพารา 14.46% อ้อย 12.22% มันสำปะหลัง 10.70% ข้าวนาปี 9.86% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 9.70% ปาล์มน้ำมัน 6.79% และไม้ผล มีต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 13% ส่วนด้านปศุสัตว์และประมงได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย ยกเว้นประมงทะเลที่จำเป็นต้องใช้แรงงานอาจจะมีผลต่อต้นทุนเพิ่มขึ้นบ้าง

ส่วนภาคการผลิตอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะที่มีขนาดเล็กหรือ SMEs เช่น โรงงานสับปะรดกระป๋อง อาหารทะเลแช่แข็ง จะได้รับผลกระทบพอสมควรเนื่องจากใช้อัตราค่าจ้างเช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งการปรับค่าแรงงานจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นผู้ประกอบการควรเตรียมแผนการรองรับ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานให้สามารถเพิ่มผลผลิตต่อคนมากขึ้น ใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงาน

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ภาระต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13% ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น และอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากราคาสินค้าของไทยสูงกว่าประเทศอื่น ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัว โดยการลดต้นทุนการผลิต ใช้พันธุ์ที่ดี ลดการพึ่งพาปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตรโดยใช้ปุ๋ยให้เหมาะกับพืชและดิน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และมุ่งเน้นผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทั้งตลาดในและต่างประเทศ.

 

ที่มา // http://www.dailynews.co.th/agriculture/177952