‘ไบโอเทค’ พัฒนาข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ของโลก ต้านทานโรคไหม ต้นเตี้ย

‘ไบโอเทค’ ประสบความสำเร็จพัฒนาข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ของโลก “กข 6 ต้านทานโรคไหม ต้นเตี้ย” ต่อยอดจากพันธุ์พระราชทานธัญสิริน ต้านทานโรคไหม้กับโรคขอบใบแห้ง เก็บเกี่ยวได้ง่าย ผลผลิตต่อไร่สูง…

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “มิติใหม่วิจัยข้าวไทยพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเปิดตลาดเสรีอาเซียน” ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ต่างให้ความสำคัญกับข้าวและชาวนาไทยมาโดยตลอด ทรงตระหนักถึงความสำคัญของข้าวว่าเป็นอาหารหลักของคนไทยและเป็นสินค้าส่งออก หลักของประเทศ 

ทรงมีพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 28 ก.ย.2555เกี่ยวกับข้าวที่ว่า “ข้าวต้องปลูกเพราะอีก 20 ปีประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อยๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไร ประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้เราก็ต้องปลูก” นอกจากนี้ ทรงรับสั่งทั้งทางตรงและทางอ้อมเกี่ยวกับข้าวว่า เรื่องข้าวไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของผู้คนและวัฒนธรรม รวมทั้งการเมืองด้วย เรียกว่าข้าวมีหลายมิติ

ดร.สุเมธ กล่าวต่อว่า จากสภาพเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยมีความเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงทางอาหารคือข้าว เป็นอาหารหลักของประชากรโลกที่มีความจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้มีผลผลิตเพียงพอกับอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก งานวิจัยและพัฒนานับเป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในการพัฒนาข้าวไทย ดังนั้น ในวันที่ 21 ธ.ค.นี้ จะมีการจัดงานประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 2 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นประธานเปิดประชุมและจะมีการนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับข้าวกว่า 135 ผลงานเข้าร่วมแสดงและแลกเปลี่ยน เพื่อยกระดับข้าวไทยด้วย

ด้าน ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา นักวิจัยหน่วยปฎิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ศูนย์เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ขณะนี้ ไบโอเทคประสบความสำเร็จในการพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ของโลกเรียกว่าพันธุ์ข้าว กข 6 ต้านทานโรคไหม ต้นเตี้ย โดยเป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากพันธุ์ข้าวเหนียวธัญสิริน ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานชื่อ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2553 

ดร.ธีรยุทธ กล่าวต่อว่า ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ของโลก ไม่ได้เกิดจากการตัดต่อพันธุกรรม หรือข้าวจี เอ็ม โอ แต่เป็นการพัฒนาพันธุ์ข้าวตามขั้นตอนปกติ อาศัยเทคนิคเครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธุ์แบบวิธีมาตรฐาน ทำให้ได้เมล็ดพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับพันธุ์ กข 6 และธัญสิริน แต่มีความสามารถในการต้านทานโรคไหม้กับโรคขอบใบแห้ง ทั้งยังมีขนาดลำต้นที่เตี้ยหรือสั้นกว่าพันธุ์ธัญสิริน สามารถเก็บเกี่ยวได้ง่าย เนื่องจากมีขนาดลำต้นที่เตี้ยเหมาะกับการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักร ต้นไม่ล้ม แข็งแรง เมล็ดเรียวขัดสี ไม่แตกหัก ผลผลิตต่อไร่สูงคือระหว่าง 800–1,200 กิโลกรัม จะทำให้ผลผลิตเหลือจากการบริโภคและสามารถนำไปจำหน่ายได้มากขึ้น ขณะนี้ปลูกกระจายใน จ.น่าน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำปาง ส่วนชื่อของข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ยังไม่มีการตั้ง ทั้งนี้ ถ้าจะขอพระราชทานชื่อต้องเป็นเรื่องของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

 

ที่มา // [url=http://www.thairath.co.th/]วัน5
[/url]