เกษตรฯ จ.ลำปางเตือนหนอนหัวดำมะพร้าวศัตรูพืชระบาด

นายชัยณรงค์ กาฬมณี เกษตรสหกรณ์จังหวัดลำปาง เตือนเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวให้ระวังการระบาดของ หนอนหัวดำมะพร้าว ซึ่งขณะนี้ได้มีการระบาดในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์แล้วรูปร่างลักษณะ ตัวเต็มวัยของหนอนหัวดำมะพร้าวเป็นผีเสื้อกลางคืน ขนาดลำตัววัดจากหัวถึงปลายท้องยาวประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร ปีกสีเทาอ่อน มีจุดสีเทาเข้มที่ปลายปีก ลำตัวแบน ชอบเกาะนิ่งแนบตัวติดผิวพื้นที่เกาะ เวลากลางวันจะเกาะนิ่งหลบอยู่ใต้ใบมะพร้าวหรือในที่ร่ม ผีเสื้อเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้เล็กน้อย ผีเสื้อหนอนหัวดำมะพร้าวเพศเมียวางไข่ตัวละประมาณ 200 ฟอง ไข่มีลักษณะกลมรี แบน วางไข่เป็นกลุ่ม ไข่เมื่อวางใหม่ๆ มีสีเหลืองอ่อน สีจะเข้มขึ้นเมื่อใกล้ฟัก ตัวหนอนเมื่อฟักออกจากไข่ใหม่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ก่อนที่จะย้ายเข้าไปกัดกินใบมะพร้าว ตัวหนอนที่ฟักใหม่จะมีหัวสีดำ ลำตัวสีเหลือง สีของส่วนหัวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่ออายุมากขึ้น ลำตัวของตัวหนอนมีสีน้ำตาลอ่อน มีลายสีน้ำตาลเข้มพาดยาวตามลำตัว เมื่อโตเต็มที่จะยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร
ลักษณะการทำลาย : การทำลายเกิดในระยะตัวหนอนเท่านั้น โดยตัวหนอนจะถักใยดึงใบมะพร้าวมาเรียงติดกันเป็นแพ และสร้างอุโมงค์เป็นทางยาวอาศัยกัดกินใบอยู่ภายในอุโมงค์ ชอบทำลายใบแก่ เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่แล้ว จะถักใยหุ้มลำตัวอีกครั้ง และเข้าดักแด้อยู่ภายในอุโมงค์ ดักแด้มีสีน้ำตาลเข้ม ดักแด้เพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าดักแด้เพศเมียเล็กน้อย ตัวหนอนเมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ๆ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม 1-2 วัน ก่อนจะย้ายไปกัดกินใบมะพร้าว มักจะพบหนอนหลายขนาดกัดกินอยู่ในใบมะพร้าวใบเดียวกัน หนอนจะสร้างใยผสมกับมูล ทำเป็นอุโมงค์และอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ หนอนทุกระยะจะแทะกินผิวใบการทำลายส่วนใหญ่พบบนใบแก่ ใบที่ถูกทำลายจะมีลักษณะแห้งเป็นสีน้ำตาล ใบย่อยแต่ละใบจะถูกดึงยึดเรียงกันเป็นแพ
การป้องกันกำจัด ตัดเก็บใบที่ถูกทำลายมาเผาทำลาย การควบคุมโดยชีววิธีฉีดพ่นด้วยเชื้อ Bt ตามอัตราคำแนะนำในฉลาก ฉีดพ่นด้วยสารสะเดาตามอัตราคำแนะนำในฉลาก

ที่มา //http://www.banmuang.co.th/2012/11/