การเลี้ยงไส้เดือน

ไส้เดือน” (Earth worm) มีอยู่ในผืนดินทั่วไป ทำหน้าที่สร้างความอุดมสมบูรณ์สร้างอินทรียสารช่วยพรวนดิน จากคุณประโยชน์ต่อระบบนิเวศ ส่งผลให้ปัจจุบันเกษตรกรหลายรายเริ่มหันมาสนใจเลี้ยงเพื่อส่งขายสร้างเม็ดเงินเข้ากระเป๋ากันมากขึ้น และที่ ชุมชนต้นแบบของการใช้เกษตรอินทรีย์บ้านไร่กองขิง ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ เป็นหนึ่งในจำนวนนี้
นายเจริญ ธนันชัย กรรมการกลุ่มเกษตรกรบ้านไร่กองขิง บอกกับ “หลายชีวิต” เมื่อครั้งร่วมเดินทางไปกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ว่า ปัจจุบันทั่วโลกพบไส้เดือนประมาณ 4,400 ชนิด โดยแบ่งออกได้ตามลักษณะแหล่งที่อยู่อาศัยอย่าง บริเวณหน้าดิน ดินชั้นบน ที่มีความลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตร ดินชั้นล่าง ที่มีความลึกประมาณ 2-3 เมตร
โดยการเคลื่อนที่ในดินของไส้เดือน ถือเป็นการพรวนดิน ทำให้เกิดช่องว่างเพิ่มปริมาณออกซิเจน และจากสภาพทั่วไปตามธรรมชาติ เราจะเห็นไส้เดือนจะอยู่ทั่วไปตามดินชุ่มชื้นร่วนซุย หากินอยู่ตามผิวดินและชอนไชไปตามซอกหลืบของเม็ดดิน ปกติมันจะกินเศษใบไม้และพืชผักเป็นอาหาร พักผ่อนกลางวันออกหากินกลางคืน มูลจากสัตว์เลื้อยคลานดังกล่าวยังสามารถนำมาใช้ในการผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพได้อีกด้วย
จากคุณประโยชน์ดังกล่าว ชาวบ้านแถบนี้จึงเริ่มรวมกลุ่มเลี้ยงซึ่งขณะนี้ได้ประมาณ 4 เดือนแล้ว และเริ่มมีรายได้ ซึ่งการเลี้ยงก่อนที่จะนำไส้เดือนลงในบ่อดิน กลุ่มได้คิดค้นนวัตกรรม ที่ประยุกต์จากชั้นใส่ของพลาสติกที่ขายอยู่ทั่วไป มาทำเป็น “คอนโดฯไส้เดือน” โดยใส่ดินมูลวัวและเศษผักผลไม้ ให้เป็นแหล่งอาหารของไส้เดือน พร้อม ทั้งเจาะรูชั้นพลาสติกทุกชั้น ยกเว้นชั้นสุดท้าย จะไม่เจาะรู เพราะให้เป็นเหมือนสุขาหรือส้วมของไส้เดือน รองรับปัสสาวะและมูลของไส้เดือนนำไปกักเก็บเพื่อขายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เมื่อไส้เดือนอยู่คอนโดฯได้ระยะเวลาหนึ่ง ก็จะถูกนำไปเลี้ยง ในบ่อซีเมนต์ โดยมีเศษผักเป็นอาหาร ถือเป็นการช่วยกำจัดขยะในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
ทั้งนี้ จากข้อมูลทางวิชาการ ไส้เดือน 1,000 กว่าตัว สามารถช่วยย่อยขยะได้ประมาณ 1 กิโลกรัม ภายในระยะเวลา 3-4 วัน เรียกว่า เลี้ยงไส้เดือนอย่างเดียวได้ประโยชน์หลายต่อ อย่างที่เห็นชัดก็คือจะมีเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจะมาหาซื้อไส้เดือนเพื่อนำไปเลี้ยงต่อ เพื่อนำมูลหรือฉี่ของไส้เดือนไปผสมน้ำใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์รดต้นลำไย ตัวไส้เดือนยังส่งขายได้ในราคากิโลฯละ 500 บาท
“…ตอนนี้ ก็มีเกษตรกรมาขอซื้อไส้เดือนและมูลไส้เดือนอยู่เรื่อยๆ ถ้ากิจการดี กลุ่มก็อาจจะขยายการเลี้ยงไปในชุมชนต่อไป…” เกษตรกรในพื้นที่อื่นที่สนใจการเลี้ยงไส้เดือนดิน กลุ่มเกษตรกรบ้านไร่กองขิง ไม่หวงวิชาติดต่อขอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้ที่กลุ่มเกษตรกรบ้านไร่กองขิง ต.หนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ อนาคตไม่แน่หากเลี้ยงดีๆ อาจเป็นเศรษฐีไส้เดือนโดยไม่รู้ตัว.
เพ็ญพิชญา เตียว