ลิ้นจี่เป็นอาหารและยา

 

ลิ้นจี่  เป็นไม้ผลยืนต้น เป็นพืชที่เขียวตลอดปี โดยเริ่มในเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน ลิ้นจี่ มีหลายพันธุ์ ที่นิยมจำหน่าย ได้แก่ กิมเจ็ง ฮงฮวยและ จักรพรรดิ ปลูกได้หลายภาคของไทย เนื้อลิ้นจี่ มีรสชาติหวานหอมอร่อย เป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานและแต่งรสชาติในอาหารหวานคาว และผสมในเครื่องดื่ม เป็นผลไม้ที่นิยมในประเทศจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดถึงเอเชียใต้ และอินเดีย

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

สรรพคุณทางยา ตามที่ใช้ในประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ นับมาแต่โบราณ เนื้อในผล     กินเป็นยาบำรุง แก้อาการไอเรื้อรัง แก้อาการคัดจมูก รักษาอาการท้องเดิน   ลดกรดในกระ-เพาะอาหาร และบรรเทาอาการไม่ปกติของระบบทางเดินอาหาร
ในประเทศจีนใช้เปลือกผลลิ้นจี่ทำเป็นชา ใช้ชงเพื่อบรรเทาอาการหวัด แก้การติดเชื้อในลำคอ อาการท้องเสียอย่างอ่อน และโรคจากการติดเชื้อไวรัส ตำรายาจีนกล่าวเฉพาะเมล็ดลิ้นจี่ ว่ามีรสหวาน ขมเล็กน้อย สรรพคุณอุ่น ทำให้พลังชี่ขับเคลื่อน ลดอาการปวด ใช้กรณีปวดท้อง ปวดไส้เลื่อน ปวดบวมของอัณฑะ ใช้ขนาด 5-10 กรัม โดยมักผสมกับสมุนไพรอื่นอีก หนึ่งหรือสองชนิด เมล็ดลิ้นจี่ ที่แห้ง ควรนำมาบด คั่วให้แห้งโดยผสมด้วยน้ำเกลือ แล้วจึงเติมน้ำลงไปต้ม น้ำดื่ม หรือทำเป็นผง รับประทานหรือใช้ ผงยาพอกบริเวณมีอาการปวดบวมรากลิ้นจี่หรือเปลือกต้นใช้แก้อาการติดเชื้อ ไวรัส อีสุกอีใส และเพิ่มความสามารถระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

รายงานวิจัยที่ทำในประเทศจีนอื่นๆยังพบว่า สารสกัดลิ้นจี่ลดขนาดเนื้องอกในสัตว์ทดลอง แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นสารสกัดส่วนใดของลิ้นจี่ สำหรับงานวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของไทย พบว่าสารสกัดผลลิ้นจี่มีฤทธิ์ในการปกป้องตับ ในหนูที่เหนี่ยวนำให้ได้รับสารพิษ และเป็นโรคตับ

ผลการใช้ลิ้นจี่และผลวิจัยจากสารสกัดลิ้นจี่ แสดง ศักยภาพของลิ้นจี่ ไม่เพียงแต่มีรสอร่อย แต่ยังมากด้วยคุณค่าทางยา อย่างไรก็ดี เนื้อผลลิ้นจี่ ยังมีสารประกอบที่พบในการวิจัยและคาดว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิด อาการ “ ร้อนใน ” ได้ การรับประทานลิ้นจี่มากเกินไปอาจเกิดอาการดังกล่าวได้ ควรรับประทานอาหารหลากหลาย โดยเฉพาะอาหารรสเย็น เพื่อให้เกิดความสมดุลและแก้อาการดังกล่าว

 

ที่มา //http://www.pharmacy.cmu.ac.th/web2553/n56.php