หูเสือ

ชื่ออื่น : หอมด่วนหลวง (เหนือ), ผักหูเสือ, เนียมอีไหลหลึง, โฮว้หีเช่า (จีน)

          เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นอวบน้ำ มีขนหนาแน่น นำใบหูเสือมารับประทานเป็นผักสดกับลาบ ก้อย อร่อยมากถึงมากที่สุด เพราะเป็นพืชอวบน้ำ น่ากิน และขึ้นอยู่กับฝีมือการทำอาหารด้วยว่า ทำอร่อยหรือไม่ เคยซื้อหูเสือมาปลูก แต่มันได้ตายไปเรียบร้อยทั้งที่เป็นพืชที่ขึ้นง่าย เพียงแค่เด็ดมาจิ้ม จิ้ม จิ้มลงดินก็เกิดแล้วเขาเรียกว่า การปักชำ แต่ดินที่บ้านคงไม่ดีมันเลยไม่ขึ้น…
          รสชาติของหูเสือ บางคนบอกว่าคล้ายกับออริกาโน (oregano) ที่ใช้ประกอบอาหารฝรั่งชนิดหนึ่ง บางคนก็รับประทานหูเสือไม่ได้เพราะมันมีรสเผ็ดร้อน กลิ่นฉุน แต่ก็ไม่ได้ฉุนมากมายอะไรนักหนานอกจากเป็นผักสดแล้ว ยังนำใบหูเสือมาทำอาหารได้ด้วย เช่น ผัดใบหูเสือใส่หมูสับ อาหารชนิดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไอโดยเฉพาะ
          นอกจากเป็นอาหารแล้ว หูเสือยังเป็นสมุนไพรอีกด้วย ใช้แก้ปวดหู แก้ฝีในหู แก้หูน้ำหนวก ดมแก้หวัด คัดจมูก ขยี้ทาท้องเด็ก แก้ท้องอืด โดยคั้นน้ำจากใบหูเสือมาใช้หยอดหู หรือนำน้ำที่ได้มาใช้ทาท้องเด็ก…หูเสือยังใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านในการรักษาแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก รักษาอาการบวม ตำพอกแก้ปวดข้อ ใช้ขยี้ทาเพื่อห้ามเลือด ใช้คั้นน้ำทาแผลเรื้อรัง ใช้ดับกลิ่นปากได้ด้วยนะ ใช้แก้ไข้ในเด็ก ป้องกันฟันผุ ใช้ขยี้ทารักษาหิด แมลงสัตว์กัดต่อย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ใส่ในยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลงได้อีกด้วย  มีผลการวิจัยจากหูเสือว่า สารสกัดจากหูเสือสามารถยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งยีสต์ ยับยั้งเชื้อรา ยับยั้งการงอกของพืชอื่น ที่สำคัญสำหรับผู้ที่กลัวแก่ หูเสือมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
          นี่แหละผักพื้นบ้านไทย แต่ละชนิดมีประโยชน์และสรรพคุณมากมายหากรู้จักนำมาใช้ แต่บางคนไม่รู้จักนี่สิ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคือต้นอะไร ทุกวันนี้ร้านขายผักหรือขายอาหารอีสานไม่มีผักหูเสือไว้ขายหรือมีไว้ให้ลูกค้าบริโภคนะ มีแต่ผักชนิดอื่น อาทิ ใบบัวบก  ผักแพว ผักชีลาว ผักเม็ก ผักขา  ผักกะโดน ผักติ้ว ผักกะแยง ดอกแค ผักหอมเป ผักอีตู่ ผักอีฮีน…สารพัดสารพันสุดที่จะจำนรรจา….แต่ทว่า ไม่มีหูเสือ.



ที่มา///http://www.dailynews.co.th/agriculture/165089